การคิดเคสคิดได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่พี่ๆ แวววากย์วาทีจะมานำเสนอ มี 4 ขั้นตอน คือ

  1. คิดถึงปัญหาในญัตติ (Think about the problem)
  2. หาตัวการและอธิบายตัวการ (Find and characterize actors)
  3. หาการขัดกันของผลประโยชน์ (Find clashes)
  4. สร้างประเด็น (Build arguments)

ในบทความนี้ จะอธิบายทั้ง 4 ขั้นตอน และจะแสดงแต่ละขั้นตอนโดยใช้ญัตติตัวอย่างเดียวกัน คือ THW ban smoking สำหรับฝ่ายรัฐบาล

คิดถึงปัญหาในญัตติ (Think about the problem)

เมื่อได้ญัตติแล้ว ให้มองภาพรวม ลองคิดคร่าวๆ ก่อนว่า ญัตติต้องการอะไร มีปัญหาอะไร นึกอะไรขึ้นได้บ้าง เพื่อจะนำไปเป็นพื้นฐานในขั้นต่อๆ ไป

ญัตติ: THW ban smoking
ปัญหาที่อาจคิดได้:

  • ผู้สูบบุหรี่ป่วยหรือเสียชีวิตจากมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
  • รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสาธารณะสุขจำนวนมากเพื่อมารักษาผู้ที่เป็นโรคจากการสูบบุหรี่
  • บุหรี่มีสารทำให้ติดบุหรี่ เมื่อผู้สูบเริ่มสูบแล้วต้องสูบเรื่อยๆ ทำให้สุขภาพแย่ลงและเงินที่มีร่อยหรอลงเรื่อยๆ อย่างแทบจะควบคุมไม่ได้
  • ผู้ที่เสียสุขภาพไม่ได้มีเพียงผู้สูบเท่านั้น แต่มีผู้อยู่รอบข้างที่สูดควันบุหรี่เข้าไปด้วย

หาตัวการและอธิบายตัวการ (Find and characterize actors)

ตัวการ (Actor) ในที่นี้หมายถึง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่โต้วาทีในแต่ละรอบ ซึ่งสามารถถอดมาจากสิ่งที่คิดได้ในขั้นตอนแรก

ญัตติ: THW ban smoking
ปัญหาที่อาจคิดได้:

  • ผู้สูบบุหรี่ป่วยหรือเสียชีวิตจากมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
  • รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสาธารณะสุขจำนวนมากเพื่อมารักษาผู้ที่เป็นโรคจากการสูบบุหรี่
  • บริษัทผลิตบุหรี่ต้องการแสวงหาผลกำไร เช่นเดียวกับบริษัททั่วไป ดังนั้นจึงพยายามให้คนติดบุหรี่มากที่สุด เพื่อจะได้กำไรมากที่สุด
  • ผู้ที่เสียสุขภาพไม่ได้มีเพียงผู้สูบเท่านั้น แต่มีผู้อยู่รอบข้างที่สูดควันบุหรี่เข้าไปด้วย
    ตัวการที่ได้: ผู้สูบบุหรี่ รัฐบาล บริษัทผลิตบุหรี่ ผู้อยู่รอบข้าง (ผู้คนทั่วไป)

ตัวการในเคสควรจะเป็นตัวการที่เจาะจง ตัวการที่กว้างเกินไปจะทำให้ไม่เห็นประเด็นครบทุกประเด็น

ตัวการที่ได้: ผู้สูบบุหรี่ที่มีฐานะร่ำรวย ผู้สูบบุหรี่ที่มีฐานะไม่ร่ำรวย รัฐบาล บริษัทผลิตบุหรี่ ผู้อยู่รอบข้าง (ผู้คนทั่วไป)

จากข้างต้นจะเห็นว่า แท้จริงแล้วผู้สูบบุหรี่มีหลายประเภท หากผู้โต้วาทีคิดถึงผู้สูบบุหรี่โดยรวมอย่างเดียว (กว้างไป) ก็อาจจะไม่เห็นประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านการเงินจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น

เมื่อได้ตัวการแล้ว จึงนำมาอธิบาย (characterize) คือ คิดว่าแต่ละตัวการเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับตัวการอื่นอย่างไร และที่สำคัญ มีผลประโยชน์ใดบ้าง

ญัตติ: THW ban smoking
ตัวการ:

  • ผู้สูบบุหรี่ที่มีฐานะร่ำรวย อยากสูบบุหรี่ สามารถซื้อบุหรี่ได้เรื่อยๆ มีอันจะกิน ไม่ดิ้นรน มีเงินรักษาพยาบาลเอง
  • ผู้สูบบุหรี่ที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ติดบุหรี่ หาเช้ากินค่ำ รายได้ต่ำ เสียเงินส่วนใหญ่ไปกับบุหรี่ ต้องพึ่งสวัสดิการรักษาพยาบาลรัฐ
  • รัฐบาล มีหน้าที่ดูแลและปกป้องประชาชนทุกคน มีงบประมาณจำกัด
  • บริษัทผลิตบุหรี่ ต้องการแสวงหาผลกำไร พยายามให้คนติดบุหรี่มากที่สุด เพื่อจะได้กำไรมากที่สุด
  • ผู้อยู่รอบข้าง (ผู้คนทั่วไป) สุขภาพเสียเนื่องจากสูดควันบุหรี่ แม้ตนเองจะไม่ได้สูบ และไม่ต้องการสูบก็ตาม

หาการขัดกันของผลประโยชน์ (Find clashes)

เมื่อหาผลประโยชน์ของตัวการแต่ละตัวได้แล้ว ให้ดูว่าผลประโยชน์ใดขัดกันบ้าง

ญัตติ: THW ban smoking
ตัวการ:

  • ผู้สูบบุหรี่ที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ติดบุหรี่ หาเช้ากินค่ำ รายได้ต่ำ เสียเงินส่วนใหญ่ไปกับบุหรี่ ต้องพึ่งสวัสดิการรักษาพยาบาลรัฐ
  • รัฐบาล มีหน้าที่ดูแลและปกป้องประชาชนทุกคน มีงบประมาณจำกัด
    การขัดกันของผลประโยชน์: ความต้องการของผู้สูบบุหรี่ vs งบประมาณสาธารณสุขของรัฐ

การขัดกันของผลประโยชน์ (clash)สามารถใช้ได้ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นฝ่ายตรงข้ามน่าจะมีการขัดกันของผลประโยชน์ที่ตรงกัน เราจึงสามารถใช้การขัดกันของผลประโยชน์นี้มาคาดเดาประเด็นของฝ่ายตรงข้าม และออกแบบเคสป้องกันประเด็นเหล่านั้นก่อน (preempt) ได้

สร้างประเด็น (Build arguments)

เมื่อเจอการขัดกันของผลประโยชน์ครบแล้ว ให้เลือกผลประโยชน์ที่ตรงกับฝ่ายตัวเองแล้วนำไปสร้างประเด็น

ญัตติ: THW ban smoking
การขัดกันของผลประโยชน์: ความต้องการของผู้สูบบุหรี่ vs งบประมาณสาธารณสุขของรัฐ
ประเด็น: บุหรี่ควรผิดกฏหมายเพราะทำให้สิ้นเปลืองงบสาธารณะสุขของรัฐโดยไม่จำเป็น ("Smoking unnecessarily wastes government funding for public health")

วิธีการสร้างประเด็นโดยละเอียดอยู่ในบทถัดไป