ญัตติในการโต้วาทีภาษาอังกฤษ หลักๆ มีสองชนิด คือ

  1. ญัตติที่เน้นหลักการ (Principle Motion) เป็นญัตติที่เน้นการให้เหตุผลโดยใช้หลักการ (principle) พิสูจน์ว่าควรหรือไม่ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (justified) หรือไม่ เป็นหลัก

ญัตติชนิดนี้มักขึ้นต้นด้วย "This house believes that..." ("THBT..."), "This house supports..." ("THS...") หรือ "This house regrets..." ("THR...") เป็นต้น

ญัตติที่เน้นหลักการบางญัตติต้องการให้ทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหา ส่วนใหญ่แล้วญัตติแบบนี้มักเป็นญัตติที่ให้ทำอะไรซักอย่าง เช่น THBT in areas of socio-economic deprivation, schools should train students in vocational skills to the exclusion of the liberal arts (จากการแข่งขัน Malaysia WUDC 2015) ในกรณีนี้ แต่ละฝ่ายต้องใช้หลักการมาพิสูจน์ให้กรรมการเห็นว่าการกระทำในญัตตินั้นสมควรและถูกต้องหากเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือไม่สมควรและไม่ถูกต้องหากเป็นฝ่ายค้าน นอกจากนี้แต่ละฝ่ายอาจจะคิดมาตรการโดยละเอียดเพื่อมาแก้ปัญหาตามที่ญัตติสั่งได้ด้วยแต่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เน้นหลักการบางญัตติก็ไม่ได้ต้องการให้แก้ปัญหา อาจเพียงแค่ต้องการให้ใช้หลักการพิสูจน์ว่าญัตติเป็นจริงหรือไม่เท่านั้น หรืออาจให้เปรียบเทียบว่ามีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ญัตติส่วนใหญ่ที่เป็นประโยคจริงเท็จ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย เช่น THBT capitalism is the best economic system มักจะเป็นญัตติที่ต้องการให้พิสูจน์จริงไม่จริง ส่วนญัตติที่ขึ้นต้นด้วย “This house regrets…” (THR) หรือ “This house celebrates…” (THC) จะเป็นญัตติเปรียบเทียบผลดีผลเสีย

ในญัตติที่ไม่ต้องการให้แก้ปัญหา การสร้างมาตรการขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเคสอาจกลายเป็นการเพิ่มภาระที่ไม่จำเป็นให้ทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญัตติที่เน้นหลักการและการพิสูจน์เนื้อความของญัตติ เช่น THBT globalization perpetuates social inequity จะสังเกตได้ว่าหากจะพยายามหามาตรการเพื่อมาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม (social inequity) จะเป็นการเพิ่มภาระก้อนโตที่ไม่จำเป็นนอกเหนือจากที่ญัตติได้กล่าวไว้ ทำให้เสียเวลาและหากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาตรการนั้นๆจะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ อาจทำให้ทีมดูด้อยกว่าอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็น

  1. ญัตติที่เน้นทางปฏิบัติ (Practical Motion) เป็นญัตติที่เน้นการสร้างมาตรการ (model) เพื่อแก้ปัญหา พิสูจน์ว่ามาตรการนั้นปฏิบัติได้หรือไม่ ได้ผลหรือไม่ มาตรการของฝ่ายใดให้ผลดีมากที่สุด ให้ผลเสียน้อยที่สุด

ญัตติชนิดนี้มักขึ้นต้นด้วย "This house would" ("THW")

อย่างไรก็ตาม เคสโต้วาทีที่ดีควรมีทั้งหลักการและนโยบาย ไม่ใช่มีเพียงอย่างเดียว ยกเว้นในบางกรณีที่กล่าวไว้ด้านบน เพราะจะทำให้เคสหรือประเด็นขาดน้ำหนัก ไม่ครบถ้วน ฝ่ายตรงข้ามอาจโจมตีว่าเป็นไปได้ยาก (หากขาดนโยบาย) หรือไม่มีแนวคิดรองรับ (หากขาดหลักการ)