หน้าที่ของผู้พูด - Speaker Roles
นายกรัฐมนตรี - Prime Minister (ผู้พูดลำดับที่ 1 ของฝ่ายรัฐบาล)
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พูดคนแรก ฉะนั้นหน้าที่หลักๆ คือการวางโครงสร้างเนื้อหาและทิศทางของการโต้วาทีในรอบนั้นๆว่าจะไปในทิศทางใด และ จะมีสาระครอบคลุมเรื่องใดบ้าง โดยจะทำผ่านการนำเสนอจุดยืนของฝ่าย (Stance) การให้คำจำกัดความ (Definition) และ การอธิบายถึงบริบท (Context / Background) ที่เป็นที่มาของปัญหาในการโต้วาทีในรอบนั้นๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการ และ ผู้ฟังเข้าใจถึงภาพรวมเคส และ การโต้วาทีที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามนำเสนอ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะกล่าวถึงประเด็น (Arguments) ที่จะมาประกอบเคสของฝ่ายรัฐบาล
ผู้นำฝ่ายค้าน - Leader of Opposition (ผู้พูดลำดับที่ 1 ของฝ่ายค้าน)
ผู้นำฝ่ายค้านมีหน้าที่ใกล้เคียงกับนายกรัฐมนตรี นั่นคือ การนำเสนอเคสและปัญหาที่ฝ่ายค้านต้องการจะแก้ไข ซึ่งจะมีวิธีคล้ายกับนายกรัฐมนตรี คือ การนำเสนอจุดยืน (Stance) และ ปฏิเสธคำจำกัดความที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ (Definitional Challenge) ในกรณีที่จำเป็นหากคำจำกัดความที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้นั้นไม่ยุติธรรม ก่อนที่จะพูดถึงเคสของฝ่ายค้าน ผู้นำฝ่ายค้านมีหน้าที่ในการกล่าวข้อโต้แย้ง (Rebuttals) กับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอภาระหรือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ (Burden of Proofs) และ ประเด็น (Arguments) ของฝ่ายค้าน
รองนายกรัฐมนตรี - Deputy Prime Minister (ผู้พูดลำดับที่ 2 ของฝ่ายรัฐบาล)
รองนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่หลักในการโต้ตอบกับประเด็นของผู้นำฝ่ายค้าน ผ่านการใช้ข้อโต้แย้ง (Rebuttals) และ ประเด็นเชิงลบ (Negative Arguments) นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการแก้ต่างให้กับเคสของฝ่ายเสนอ และ อธิบายเคสเพิ่มเติม (Extension) ผ่านการนำเสนอและอธิบายประเด็น (Arguments) ที่แตกต่างจากออกไปจากนายกรัฐมนตรี วิธีการอธิบายเคสเพิ่มเติมที่ดีไม่ควรพูดซ้ำในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้แล้ว ควรถามคำถามว่าเหตุใด ทำไม กับเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ หรือ อาจพูดถึงเรื่องใหม่ๆ ขยายความออกไปถึงความเกี่ยวข้องของเคสในศาสตร์อื่นๆ หรือ สถานการณ์อื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม การพัฒนาประเทศ ผลกระทบที่อาจเกิดในระดับชาติ และ นานาชาติ ผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อย ฯลฯ
รองผู้นำฝ่ายค้าน - Deputy Leader of Opposition (ผู้พูดลำดับที่ 2 ของฝ่ายค้าน)
เช่นเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี รองผู้นำฝ่ายค้านมีหน้าที่โต้ตอบกับประเด็นของนายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านการใช้ข้อโต้แย้ง (Rebuttals) และ ประเด็นเชิงลบ (Negative Arguments) นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการแก้ต่างให้กับเคสของฝ่ายค้าน และ อธิบายเคสเพิ่มเติม (Extension) ผ่านการนำเสนอและอธิบายประเด็น (Arguments) ที่แตกต่างจากออกไปจากผู้นำฝ่ายค้าน
วิป - Whip (ผู้พูดลำดับที่ 3)
วิปควรเริ่มต้นโดยการให้ข้อโต้แย้ง (Rebuttals) ต่อผู้พูดคนที่แล้ว อย่างไรก็ดีในโครงสร้างรัฐสภาเอเชียวิปของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะไม่มีการเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ แต่จะเป็นการสรุปภาพรวมของการโต้วาทีนั้นๆ โดยผ่านการเปรียบเทียบประเด็นต่างๆของทั้งสองฝ่าย (Comparative Analysis) ใน ข้อขัดแย้ง (Clash)
วิธีการเป็นวิปแบบละเอียด อยู่บทความถัดไป
ผู้กล่าวสรุป - Reply (ผู้พูดคนสุดท้าย)
ผู้กล่าวสรุปนั้นจะเป็นผู้พูดลำดับที่ 1 หรือ 2 ของฝ่ายนั้นๆ มีโครงสร้างในการพูดที่ไม่ตายตัว แต่จะไม่มีการกล่าวเนื้อหาใหม่ๆ ผู้กล่าวสรุปมีหน้าที่หลักๆในสรุปการโต้วาทีรอบนั้นๆ แสดงถึงภาพรวมของการโต้วาที แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ โดยอาจอิงจากภาระหรือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ที่เคยกล่าวไว้แล้ว สามารถบอกถึงเหตุที่ฝ่ายตนนั้นควรชนะ อาจกล่าวถึงข้อแตกต่างที่ฝ่ายตนได้ทำแต่อีกฝ่ายละเลยจนทำให้อีกฝ่ายต้องพ่ายแพ้ การกล่าวสรุปเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะโน้มน้าวใจคณะกรรมการและผู้ฟัง