อาหรับสปริง (al-Thawrat al-Arabiyyah) หรือการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) คือปรากฏการณ์ล่มสลายของผู้นำเผด็จการในกลุ่มประเทศอาหรับ และการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองครั้งใหญ่ของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ปรากฏการณ์อาหรับสปริงเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 2010 ณ ประเทศตูนิเซีย (Tunisia) เมื่อพ่อค้าขายผัก-ผลไม้เร่ชื่อ มุฮัมมัด อัลบูอะซีซี (Mohamed Al-Bouazizi) ถูกตำรวจหญิงไล่ตี ด่าทอ และยึดรถเข็นไป มุฮัมมัดเป็นคนจนหาเช้ากินค่ำ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแกจึงไปร้องทุกข์กับผู้พิพากษาแต่ไม่ได้รับการเหลียวแล ความคับแค้นทำให้มุฮัมมัดเผาตัวตายกลางถนน ผู้คนถ่ายคลิปวิดีโอและแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียออกไปทั่วทั้งภูมิภาคอาหรับ

เบน อาลิ (Ben-Ali) ผู้นำตูนิเซียในตอนนั้น ไม่ตระหนักถึงพลังแห่งโซเชียลมีเดีย เมื่อมุฮัมมัดเสียชีวิตลง ชาวตูนิเซียจำนวนมากนัดหมายผ่านโซเชียลมีเดียออกชุมนุมประท้วงใหญ่จนเบน อาลิ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

จากนั้นกระแสอาหรับสปริง ก็ลามไปสู่ประเทศใกล้เคียงซึ่งล้วนมีปัจจัยเดียวกัน คือ ผู้นำเผด็จการครองอำนาจมายาวนาน ประชาชนอยู่ในภาวะถูกกดขี่ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมซึ่งพึงมีพึงได้ในฐานะพลเมือง ทั้งสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ สิทธิในการปกครอง ฯลฯ ส่งผลให้ประชาชนในประเทศอาหรับต่างๆลุกฮือขึ้นอย่างพร้อมเพียงกันเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการ

แผนที่แสดงผลกระทบของอาหรับสปริง

ผู้นำประเทศอียิปต์คือ ฮุสนี มุบาร็อก (Hosni Mubarak) และผู้นำเยเมนคือ อับดุลลอฮ์ ศอลิซ์ (Abdullah Saleh) มีชะตากรรมเหมือนผู้นตูนิเซีย ส่วนผู้นำลิเบียคือ มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muʿammar Gaddafi) มีชะตากรรมที่น่าอนาถกว่า เพราะถูกกลุ่มกบฏซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกสังหาร

ปัจจุบันบางประเทศเช่นซีเรีย และเยเมน ยังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง หลายประเทศมีการชุมนุมประท้วงใหญ่บ้าง เล็กบ้าง มีความไม่สงบทางการเมืองมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ทุกประเทศล้วนเกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประท้วงให้กษัตริย์หรือผู้นำเผด็จการผู้ครองอำนาจมาอย่างยาวนานแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ(โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำมัน) อีกทั้งประชาชนในบางประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำศาสนาผ่อนปรนกฎและบทบัญญัติทางศาสนาอันเข้มงวดลง