การโต้สาระวาทีที่เป็นภาษาอังกฤษคืออะไร? แตกต่างจากการโต้วาทีวาทศิลป์อย่างไร?
การโต้วาที (Debate) มักจะเป็นที่คุ้นเคยและรู้จักในวงการการศึกษาไทยในลักษณะวาทศิลป์ หรือการต่อสู้ในเชิงลีลาสำนวนภาษา อย่างไรก็ตาม การโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษ มีความแตกต่างจากการโต้วาทีหลายๆคนที่คุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง การโต้สาระวาทีภาษาอังกฤษจะเป็นการอภิปรายหัวข้อหรือประเด็นใดๆ ที่มีความขัดแย้ง ในแต่รอบของการโต้สาระวาทีจะแบ่งผู้พูดออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายเสนอ (Government / Proposition) กับ ฝ่ายค้าน (Opposition) ผู้พูดทั้ง 2 ฝ่าย จะมีหน้าที่พูดโน้มน้าว ให้คณะกรรมการตัดสิน และ ผู้ฟัง เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย กับหัวข้อประเด็นของการอภิปราย คณะกรรมการจะใช้เหตุผล และตรรกะ เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน
หัวใจที่สำคัญของการโต้วาทีในรูปแบบหนึ่ง คือ การค้นหาปัญหาจากญัตติที่สามารถมีได้มากกว่าหนึ่งปัญหา และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันของฝ่ายค้านและฝ่ายเสนอ จากนั้นจึงพิสูจน์ให้ได้ว่ามีปัญหา แล้วสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาตามที่ญัตติได้กำหนดไว้ หรือหากญัตติไม่ได้ระบุวิธีการแก้ปัญหาไว้ ก็สามารถนำเสนอมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา (Model / Mechanism) แต่ก็มีการโต้วาทีในรูปแบบอื่นๆ เช่น ในญัตติที่เน้นหลักการ ที่ให้ผู้โต้วาทีพิสูจน์ว่าสิ่งที่ปรากฏในญัตตินั้นถูกต้องหรือไม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเสนอหรือพิสูจน์วิธีการแก้ไขปัญหาใดๆ
ประเด็น หรือ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Arguments นั้นเป็นเพียงแค่รูปแบบของการสร้างโครงสร้างที่ซับซ้อนและน่าเชื่อถือให้กับเหตุผล ที่จะมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้าง (Proposition) ที่สนับสนุนปัญหาที่ฝ่ายนั้นๆได้นำเสนอไปให้มีความสำคัญและควรได้รับการตระหนักและแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงสนับสนุนมาตรการที่ได้นำเสนอมาว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ฝ่ายนั้นๆได้นำเสนอไว้ในตอนต้นได้อย่างแท้จริง
ในการที่จะชนะการโต้วาทีแต่ละรอบได้นั้น ผู้พูดในแต่ละฝ่ายต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏในญัตตินั้นควรหรือไม่ สำหรับญัตติที่ไม่ต้องแก้ไขปัญหา หรือ หากเป็นญัตติที่ต้องแก้ไขปัญหา ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีปัญหาอยู่จริงที่ต้องได้รับการแก้ไขตามที่ได้กล่าวมา หรือ หากเป็นฝ่ายค้านก็อาจมีหน้าที่ในการพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีปัญหาตามที่ฝ่ายรัฐบาลได้แจงไว้ หากทั้งสองฝ่ายนำเสนอปัญหาที่ไม่เหมือนกัน แต่ละฝ่ายต้องพิสูจน์ให้กรรมการเห็นว่าปัญหาของฝ่ายนั้นๆมีความสำคัญและมีผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าอีกฝ่าย หรือ อาจจะพิสูจน์ว่าทำไมปัญหาของอีกฝ่ายถูกรวมอยู่ในส่วนหนึ่งของฝ่ายตน รวมไปถึงภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาของฝ่ายตนนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และ เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าที่อีกฝ่ายนำเสนอมา อาจทำโดยการพิสูจน์ไปถึงว่าทำไมวิธีการแก้ปัญหาของฝ่ายเรานั้นยังสามารถแก้ไขปัญหาที่อีกฝ่ายนำเสนอมาได้ด้วย
ด้วยเหตุนี่เอง ญัตติ ที่มักพบในการโต้สาระวาทีมักเป็นญัตติที่เป็นที่ถกเถียงและเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม เช่น โทษประหารชีวิตการห้ามการสูบบุหรี่ การสวมใส่ชุดนักเรียน เป็นต้น ในระดับที่สูงขึ้น การโต้วาทีจะเกี่ยวของกับเนื้อหาในสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้ง รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ศาสนา ปรัชญา แต่ก็สามารถคาบเกี่ยวกับความรู้ของวิทยาศาสตร์ หรือ ความรู้ในศาสตร์อื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นนักโต้วาทีที่ดีควรมีความเข้าใจในหัวข้อเหล่านี้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังควรเป็นคนที่หมั่นติดตามข่าวสาร และ มีตรรกะความคิด คิดอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุผล และมีทักษะการคิดวิพากย์ (Critical Thinking) ในประเด็นที่ได้พบเจอ
จะได้อะไรจากการโต้วาที?
นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่มักพบในผู้หัดเริ่มโต้วาที และคำตอบที่ได้ก็มักจะแตกต่างออกไป แต่สิ่งที่พบบ่อยครั้งในหลายๆคำตอบ คือ ความสามารถในการพูดอภิปรายแต่หน้าผู้คน และ การใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ผู้โต้วาทียังได้ฝึกความคิดวิพากษ์ และ รับรู้และเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด (Principles / Ideologies) ต่างๆ และ ยังได้ฝึกการใช้ความคิดในการค้นหาปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ (Problem Analyzing / Solving Skills) อีกทั้งยังได้ฝึกที่จะถกเถียงและแย้งความคิดผู้อื่นโดยใช้เหตุผลที่ปราศจากอารมณ์เป็นที่ตั้ง และ ได้ฝึกวิเคราห์ความคิดและเหตุผลของผู้อื่น