บทที่แล้วได้กล่าวถึงการสร้างประเด็นผ่านการหาความขัดแย้งของตัวการ (Actors)
ในบทนี้เราจะมาดูโครงสร้างและวิธีการนำเสนอประเด็นโดยละเอียด ประกอบไปด้วย 5 ส่วน ได้แก่

  1. นำเสนอชื่อของประเด็น
  2. นำเสนอบริบทและปัญหาที่พบในสถานการณ์ปัจจุบัน
  3. นำเสนอการเปลี่ยนแปลง หรือ หลักการของการเปลี่ยนแปลง
  4. นำเสนอผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง หรือ หลักการ
  5. เชื่อมโยงประเด็นที่ได้กล่าวมากับการโต้วาทีรอบนั้นๆ

นำเสนอชื่อของประเด็น (Name and Labelling)

ประเด็นมีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาผลของกรรมการในการโต้วาที ดังนั้น ชื่อและลำดับที่ผู้โต้วาทีมอบให้กับประเด็นต่างๆในขั้นตอนแรกของการนำเสนอประเด็นนั้นมีความสำคัญอย่างมาก
ผู้โต้วาทีมีหน้าที่ทำให้กรรมการเข้าใจและจดจำประเด็นให้ได้ ชื่อของประเด็นจึงควรมีคำศัพท์ที่เฉพาะเจาะจง ชัดเจน มีความยาวอยู่ระหว่าง 5-8 คำ เพื่อให้จดจำได้ง่าย และ อยู่ในรูปของข้อกล่าวอ้างไปยังข้อสรุป (premise to conclusion) นอกจากนี้ชื่อของประเด็นควรจะครอบคลุมและเป็นหัวใจของประเด็นนั้นๆ ทำให้กรรมการหรือผู้ฟังควรเข้าใจประเด็นอย่างคร่าวๆ ได้ เพียงแค่มองดูชื่อของประเด็นนั้นๆ

ระวัง! ประโยชน์หรือโทษเพียงอย่างเดียวไม่จัดเป็นประเด็นที่สมบูรณ์ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของประเด็นเท่านั้น

นอกจากชื่อของประเด็นแล้ว ลำดับที่ผู้โต้วาทีมอบให้กับประเด็นก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยทั่วไปเมื่อมีหลายประเด็น ผู้โต้วาทีมักใช้ตัวเลขกำกับประเด็น เช่น ประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นที่สอง เป็นต้น

ระวัง! หากใช้ตัวเลขใดกำกับประเด็นหนึ่งก็ควรนับต่อไปเรื่อยๆ ไม่ควรใช้ตัวเลขเดิมซ้ำ เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น

นำเสนอบริบทและปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน (Explain the context and Status Quo)

หลังจากนำเสนอชื่อของประเด็นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน (status quo) ผ่านการบรรยายคุณสมบัติของตัวการ (Actors) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราจะนำเสนอ ผู้โต้วาทีควรเลือกคุณสมบัติและบรรยายคุณสมบัติของตัวการในรูปแบบที่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายตนเอง (Biased Characterization) เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ อย่างไรก็ตามผู้โต้วาทีไม่ต้องกล่าวสิ่งที่เคยได้กล่าวไปแล้วในการอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันช่วงต้น แต่ควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดหรือองค์ประกอบของปัญหา ในขณะที่บรรยายคุณสมบัติของตัวการนั้นก็ค่อยๆ ชี้ให้ผู้ฟังเห็นถึงปัญหาที่มีอยู่

นำเสนอการเปลี่ยนแปลง หรือ หลักการเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง (State the Change or Principle)

ภายหลังจากการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ ผู้โต้วาทีจึงจะนำเสนอการเปลี่ยนแปลง (ข้อกล่าวอ้าง) ที่ได้กล่าวไปแล้วในชื่อของประเด็น หรือ หลักการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ที่จะเป็นตัวเชื่อมตรรกะระว่างปัญหากับผลลัพธ์ที่เราต้องการนำเสนอ

นำเสนอผลลัพธ์ (Benefits and Harm if no Change)

ต่อมาผู้โต้วาทีจึงจะนำเสนอผลลัพธ์ที่เป็นผลจากการการเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และ โทษหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้โต้วาทีควรยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพของผลลัพธ์ที่ชัดเจน

ระวัง! หากไม่มีผลลัพธ์ประเด็นจะปราศจากความสำคัญ (impact)

เชื่อมโยงกับการโต้วาทีรอบนั้นๆ (Link back to the debate)

ในขั้นตอนสุดท้ายของการนำเสนอประเด็นคือการเชื่อมโยงประเด็นให้เข้ากับญัตติและภาพรวมของการโต้วาทีรอบนั้นๆ ผ่านการสรุปในรูปแบบย้อนกลับจากขั้นตอนที่ 4 ไปยังขั้นตอนที่ 1 นอกจากนี้ผู้โต้วาทีควรจะกล่าวถึงเหตุที่ประเด็นนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้ชนะการโต้วาทีในรอบนั้น