กระบวนการยุติธรรม (Criminal Justice System) คือ ทุกๆขั้นตอนและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ การจับกุมผู้ต้องหา การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การขึ้นศาล ไปจนถึงการพิพากษา และ การลงโทษ โดยทั่วไปการโต้วาทีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม  จะมีข้อขัดแย้ง (Clash) หลักที่เป็นหัวใจสำคัญ ระหว่าง บทลงโทษที่รุนแรง (Harsh Punishment) กับ การบำบัดนักโทษให้สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ดังเดิม (Rehabilitation) ตัวอย่างของหัวข้อการโต้วาทีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โทษประหารชีวิต (Death penalty / Capital Punishment) การจำคุกตลอดชีวิต (Mandatory Sentencing) และอื่นๆ

หลักๆแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะมีเป้าหมายสำคัญสี่เป้าหมาย ได้แก่

  1. ลงโทษผู้กระทำผิด (Punishment / Retribution)
  2. ป้องกันสังคมจากอาชญากรรม (Protection)
  3. ป้องปรามการกระทำผิด (Deterrence)
  4. บำบัดนักโทษ (Rehabilitation)

นอกจากจะทำความรู้จักกับเป้าหมายเหล่านี้แล้ว ผู้โต้วาทีควรเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสี่เป้าหมายด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง การลงโทษผู้กระทำผิด (Punishment) กับ การบำบัดนักโทษ (Rehabilitation) นั่นคือ ยิ่งเรามีบทลงโทษที่รุนแรงเท่าไหร่ เราก็จะบำบัดนักโทษให้กลับเข้าไปในสังคมได้ยากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่านักโทษเหล่านั้นสมควรที่จะถูกลงโทษมากเพียงใด สิ่งที่เราต้องพึงตระหนัก คือ นักโทษส่วนใหญ่จะต้องกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ณ เวลาใดหนึ่งเวลาหนึ่ง ฉะนั้น ทุกคนในสังคมจึงมีภาระร่วมกัน คือ สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้นักโทษเหล่านี้ออกจากเรือนจำในสภาพที่ดีกว่าที่พวกเขาเข้าไป

เราควรพิจารณาเป้าหมาย 4 เป้าหมายสำคัญของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเหมือนปัจจัยที่แข่งขันกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเพิ่มระดับความสำคัญให้กับเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เราจะลดระดับความสำคัญของอีกเป้าหมายหนึ่งไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กรณีของการจำคุกตลอดชีวิต (หรือ เป็นระยะเวลานาน) กับ กรณีของการจำคุกในระยะเวลาปานกลาง

หากพิจารณากรณีของการจำคุกตลอดชีวิต หรือเป็นระยะเวลานาน จะสังเกตได้ว่าบทลงโทษ (Punishment) และการป้องกันสังคมจากอาชญากรรม (Protection) จะสูงเนื่องด้วยเราจองจำผู้กระทำผิดไว้ แต่การบำบัดนักโทษ (Rehabiliation) จะต่ำมากเพราะทั้งตัวนักโทษและรัฐขาดแรงจูงใจในการบำบัดนักโทษเหล่านี้ให้กลับเข้าไปสู่สังคมได้ การป้องปรามการกระทำผิด (Deterence) อยู่ในระดับปานกลาง สิ่งที่ต้องพึงตระหนักเกี่ยวกับการป้องปรามการกระทำผิด คือ ระดับของเป้าหมายนี้จะต่ำกว่าที่เราคิดเสมอเพราะผู้กระทำความผิดส่วนมากไม่ได้คิดว่าตนจะถูกจับ จึงไม่มีสถิติใดที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบังคับใช้โทษประหารชีวิตและการลดลงของการกระทำผิดที่เกี่ยวข้อง

ในอีกกรณีหนึ่งพิจารณาถึงการจำคุกในระยะปานกลาง (ประมาณ 10 ปี) เราจะเห็นได้ว่าระดับของบทลงโทษ (Punishment) ลดลง แต่การป้องกันสังคมจากอาชญากรรม (Protection) ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เหตุมาจากการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างมากของการบำบัดนักโทษ (Rehabilitation) ที่ลดจำนวนการกระทำผิดซ้ำ (Re-offence or Recidivism) ลง การป้องปรามการกระทำผิด (Deterence) ลดลงเล็กน้อยจากเดิม ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีสถิติหรืองานวิชาการใดที่แสดงถึงความสัมพันธ์กันระหว่างการเพิ่มระยะเวลาการจองจำและการเพิ่มขึ้นของระดับการป้องปรามการกระทำผิด

ในสังคมปัจจุบัน เรามักได้ยินวลีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้บทลงโทษที่รุนแรงให้กับอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการประหารชีวิต การกล่าวว่าอาชญากรเหล่านี้สิ้นสิทธิหรือเสรีภาพ หรือ ที่ว่าบทลงโทษที่รุนแรงจะทำให้นักโทษกลัว และ ป้องปรามการกระทำผิด ถึงแม้ว่าข้อความเหล่านี้จะไม่ได้ผิด แต่ก็ไม่ได้เป็นความจริงเสียทีเดียว  ข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตย คือ ผู้คนไม่มีทางสูญเสียสิทธิทั้งหมด แม้แต่อาชญากรที่กระทำผิดยังมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาล สิทธิที่จะขึ้นศาลด้วยความยุติธรรม และการมีผู้แทนในชั้นศาล สิทธิที่จะปราศจากการทรมาน และอื่นๆ กระนั้นแล้วอาชญากรเหล่านี้จะต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพบางประการ เช่น สูญเสียเสรีภาพในการปราศัย (Freedom of Speech) สิทธิในการลงคะแนนเสียง (Voting Right) เสรีภาพในการเคลื่อนที่ (Freedom of Movement) และอื่นๆ ฉะนั้นแล้วปัญหาที่แท้จริง คือ การหาสมดุลระหว่างการริดรอนกับการคงไว้ในสิทธิและเสรีภาพของนักโทษเหล่านี้

ก่อนที่จะสร้างเคสสนับสนุนบทลงโทษที่รุนแรง (Harsh Punishment) ผู้โต้วาทีควรทำความเข้าใจกับหลักการสัญญาประชาคมของฌอง ชาร์ค รุสโซ (Social Contract by Jean Jacques Rousseau)  สัญญาประชาคมเป็นทฤษฎีว่าด้วยที่มาของสิทธิ (Rights) ด้วยหลักการของสัญญาประชาคมแล้ว สิทธิคือผลจากสัญญา (Contract) ระหว่างประชาชน (Citizen) และรัฐ (State/Government) ที่ประชาชนยอมรับที่จะสละสิทธิบางประการเพื่อให้อำนาจรัฐในการร่างและบังคับใช้กฎหมาย หากปราศจากรัฐสังคมจะตกอยู่ในรูปแบบอนาธิปไตย (Anarchy) นั่นคือปราศจากกฎหมาย ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพเต็มไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แต่อันตรายของอนาธิปไตยคือ ผู้คนสามารถกระทำความผิดโดยปราศจากบทลงโทษใดๆ สัญญาประชาคมจึงเป็นแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการมีอยู่ของรัฐเพื่อการป้องกันโดยรวม (Mutual Protection) ของสังคม

ในการสร้างเคสสนับสนุนบทลงโทษที่รุนแรงผู้โต้วาทีจะมีภาระที่ต้องพิสูจน์ (Burden of Proofs) สองภาระหลักๆ

  1. ความจำเป็นและระดับของปัญหาที่รุนแรง (Neccessity and Dire Needs)
  2. บทลงโทษที่รุนแรงนั้นเหมาะสมและสัมพันธ์กับอาชญากรรม ( Appropriate and Proportionate )

ผู้โต้วาทีควรหลีกเลี่ยงที่จะไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่าอาชญากรรมในระดับรุนแรงกำลังลดลง หรือ บอกว่าปัญหาอาชญากรรมกำลังเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้น เพราะอีกฝ่ายสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงขึ้นมาได้ ฉะนั้นวิธีการที่ดีกว่าคือการพูดถึงปัญหาของอาชญากรรมนั้นๆในมุมมองของสาธารณชน (Public Perception) ถึงแม้ว่าอัตราการก่ออาชญากรรมจะน้อย แต่มุมมองของคนทั่วไปในสังคมกับตรงกันข้าม นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่แพร่หลายว่าบทลงโทษนั้นอ่อนโยนกับอาชญากรเกินไป หรือแม้แต่ผู้พิพากษามีความคิดและมุมมองที่ไม่ตรงกับสังคมทั่วไป

ผู้โต้วาทีต้องอธิบายว่าสาเหตุที่มุมมองดังกล่าวไม่ผิด และ มิได้สนับสนุนการยกระดับการศึกษา เพราะเป็นเรื่องยากที่จะกลับไปให้การศึกษากับคนทั้งสังคม หรือหากทำได้ก็จะใช้ระยะเวลามาก หากมองกลับไปที่สัญญาประชาคม รัฐมีหน้าที่ที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ฉะนั้นแล้วความรู้สึกหรือมุมมองจึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับข้อเท็จจริง หากไม่รู้สึกประชาชนปลอดภัย ประชนก็จะแสดงออกเช่นเดียวกับหากสถานการณ์ไม่ปลอดภัยจริงๆ อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมที่รุนแรงมากขึ้น หรือ การย้ายออกของผู้คนทั่วไปทำให้ที่แห่งนั้นกลายเป็นสลัม เพิ่มการเกิดอาชญากรรมและลดสภาพความเป็นอยู่

เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรม ประชาชนควรรู้สึกถึงความยุติธรรมเช่นเดียวกับความยุติธรรมนั้นจริงๆ หากผู้คนสูญเสียความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนจะรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้สูญเสียสิทธิและเสรีภาพเช่นข้างต้น

จึงสรุปได้ว่าหน้าที่ของฝ่ายที่สนับสนุนบทลงโทษที่รุนแรงคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าบทลงโทษที่รุนแรงนี้ ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย และ เพิ่มความมั่นใจของผู้คนในกระบวนการยุติธรรม

ในทางกลับกันหากต้องการสร้างเคสที่สนับสนุนการบำบัดอาชญากรให้สามารถกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ผู้โต้วาทีจะต้องเตรียมและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน

  1. อัตราการเกิดอาชญากรรมกำลังลดลงในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่มุมมองและความคิดมากกว่าความเป็นจริง
  2. บทลงโทษอาชญากรในปัจจุบันไม่ได้อ่อนโยนและไม่ได้อ่อนโยนลง มีจำนวนนักโทษเพิ่มมากขึ้น เพราะแม้แต่การกระทำผิดที่ไม่รุนแรงก็สามารถทำให้ถูกจองจำได้ เช่นการเมาแล้วขับ มุมมองที่ว่าอาชญากรที่กระทำความผิดร้ายแรงสามารถหลุดพ้นความผิดได้โดยง่ายก็ขัดกับข้อเท็จจริงเช่นกัน ฆาตกรเกือบทั้งหมดต้องติดคุกเป็นระยะเวลานาน
  3. มุมมองที่ว่าผู้พิพากษาตัดสินไปในแนวทางที่ไม่ตรงกับความต้องการของสังคมก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสื่อจำนวนมากมิได้รายงานข้อมูลทั้งหมด แต่กลับให้ความสำคัญกับ ข้อมูลที่ดึงดูดความสนใจได้ดี
  4. การพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและข้อดีของการบำบัดนักโทษ การบำบัดนักโทษสามารถลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ลดจำนวนอาชญากรรมลง และลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจองจำตัวอาชญากร ในทุกๆปีมีผู้คนที่ออกจากเรือนจำเป็นจำนวนมาก คนในสังคมจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ การขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้นักโทษที่ออกมาจากเรือนจำในสภาพที่ดีกว่าตอนที่พวกเขาเข้าไป
  5. เน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการทางศาล แสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษาหรือผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้นมีความพร้อมและความสามารถในการพิพากษ์บทลงโทษที่ยุติธรรมและสมควรต่ออาชญากรรมนั้นๆ