วิชาเศรษฐศาสตร์อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ทำความเข้าใจวิธีการตัดสินใจในอดีตเพื่อทำนายการตัดสินใจในอนาคต การตัดสินใจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการซื้อ-ขายเพียงเท่านั้นถึงแม้ว่าบ่อยครั้งจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม การเข้าใจแนวทางการประเมินคุณค่าและความเสี่ยง (Cost-Benefit Analysis)ของบุคคล และการกระทำอันเป็นผลจากการประเมินนั้น ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับการโต้วาทีหัวข้อเศรษฐศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการโต้วาทีได้ทุกหัวข้อ

หลักทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นมีดังนี้:

ส่วนต่าง (Margins)

นโยบายทางเศรษฐกิจส่วนมากไม่ส่งผลกระทบต่อคนทุกคนอย่างแท้จริงถึงแม้ว่าจะเป็นนโยบายครอบคลุมรวม (Blanket Policy) ก็ตาม การเพิ่มภาษีบุหรี่ 10% สำหรับคนทุกคนอาจไม่ทำให้คนทั้งสังคมเลิกสูบบุหรี่ แต่จะทำให้คนบางคนเลิกหรือลดบุหรี่ได้ คนกลุ่มนี้คือคนที่เห็นคุณค่าของบุหรี่มากกว่าราคาก่อนที่จะเพิ่มภาษี 10% แต่เมื่อเพิ่มแล้ว ราคากลับมากกว่าคุณค่าจึงตัดสินใจเลิก คนกลุ่มนี้คือ ส่วนต่าง (Margin)

หลายครั้งในการโต้วาที เราจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านโยบายหนึ่งๆมีประสิทธิผล 100% เช่น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโทษประหารจะทำให้ไม่เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นเลย แต่ด้วยหลักวิเคราะห์ส่วนต่าง (Marginal Analysis) เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายแม้เพียงเล็กน้อย ก็ดีกว่าการไม่เกิดประโยชน์ขึ้นเลยหากไม่มีนโยบาย ในกรณีโทษประหารชีวิต เราอาจพิสูจน์ได้ว่าโทษที่รุนแรงขึ้นจะทำให้คนบางคนตัดสินใจไม่เสี่ยงลงมือฆาตกรรม

ตลาด (Markets)

ตลาดคือกลไกที่จัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดของมนุษย์ ตลาดเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค สิ่งที่ตลาดใช้เชื่อมคือราคา ผู้บริโภคจะพร้อมซื้อสินค้าและบริการจนกว่าคุณค่าของสินค้าจะน้อยกว่าราคา ในทางกลับกัน ผู้ผลิตจะพร้อมขายสินค้าและบริการตราบใดก็ตามที่ราคาของสินค้ายังมากกว่าคุณค่าต่อผู้ผลิต

ราคาเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค หากราคาต่ำไป สินค้าจะหมดอย่างรวดเร็ว หาราคาสูงไป สินค้าจะล้นตลาด เพราะราคาเริ่มสูงกว่าคุณค่าสำหรับผู้บริโภคหลายคน

ในอุดมคติ ผลลัพท์คือทุกคนได้สิ่งที่ตนต้องการ ผู้บริโภคซื้อในราคาที่ตนพึงพอใจ และผู้ผลิตก็ขายในราคาที่ตนพึงพอใจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น..

ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) และการแทรกแทรงกลไกตลาด (Market Intervention)

กลไกตลาดแบบอุดมคติตั้งอยู่บนข้อสินนิษฐาน (Assumption) หลายประการ การโต้วาทีหัวข้อเศรษฐศาสตร์ส่วนมากมักเกี่ยวกับความล้มเหลวของตลาดอันเป็นผลมาจากความผิดพลาดของข้อสันนิษฐานข้อใดข้อหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งมักต้องสนับสนุนการแทรกแทรงกลไกตลาด อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนว่ากลไกตลาดสามารถแก้ไขความล้มเหลวนี้เเองได้ แทรกแทรงจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ก่อนที่จะเข้าเรื่องการแทรกแซงกลไกการตลาด เราควรทำความเข้าใจข้อสันนิษฐานของกลไกตลาดอันเป็นผลให้ตลาดล้มเหลว ข้อสันนิษฐานมี 6 ข้อหลัก ดังนี้:

1. ผู้ซื้อและผู้ขายมีจำนวนไม่จำกัด (Infinite Buyers and Sellers)
การที่ตลาดจะอยู่ในสภาพแข่งขันสมบูรณ์ จำนวนผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดต้องมีจำนวนมาก การที่มีจำนวนผู้ซื้อหรือผู้ขายรายเดียว (Monopoly) หรือน้อยราย (Oligopoly) ทำให้กลไกของตลาดไม่สามารถทำงานได้ ตัวอย่างผู้ขายผูกขาดเช่น การไฟฟ้าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดียวในไทยจึงสามารถตั้งราคาไฟฟ้าเท่าไหร่ก็ได้ ตัวอย่างผู้ซื้อผูกขาดเช่นการดึงตัวนักฟุตบอล เมื่อเซ็นสัญญาแล้วผู้ว่าจ้างผูกขาดคือสโมสรฟุตบอล

กรณีผู้ซื้อหรือขายน้อยรายปัญหาจะคล้ายรายเดียวแต่ไม่รุนแรงเท่าคือ บริษัทอาจร่วมมือกันต่อหน้าหรือลับหลังเพื่อควบคุมราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC - Organization of Petroleum Exporting Countries) ลักษณะการร่วมมือแบบนี้เรียกว่าการร่วมมือแบบคาร์เทล (Cartel) ในบางกรณีสามารถควบคุมได้ด้วยนโยบายจากภาครัฐ

2. ไม่มีผลกระทบภายนอก (No External Effects)
กลไกตลาดแบบอุดมคติมักอุปโลกน์ไปว่าการโอนถ่ายเงินและสินค้าอยู่ระหว่างฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายเพียงเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงกระทบต่อสิ่งอื่น/ผู้อื่น (Exeternalities) ผลกระทบอาจเป็นด้านบวกหรือลบ อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต หรือบริโภคก็ได้ ตัวอย่างของผลกระทบด้านลบ (Negative Externalities) คือมลภาวะจากการผลิต หากโรงงานผลิตสินค้าปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำใกล้เคียงโดยไม่เสียค่าปรับหรือภาษีมลภิษ ราคา (Cost) จะตกกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ในตลาดเสรีที่ไม่มีภาษีค่าปรับดังกล่าวจะเกิดการบริโภคสินค้าที่ผลิตนั้นเกิน (Overconsumption) เพราะราคาทางเศรษฐกิจ (Economic Cost) ไม่สอดคล้องกับราคาทางสังคม (Social Cost)

ตัวอย่างของผลกระทบด้านบวก (Positive Externalities) คือการศึกษา นอกจากการศึกษาจะพัฒนาตัวผู้ศึกษาแล้ว สังคมที่มีการศึกษาก็เป็นสิ่งที่ดีด้วย หากผู้คนในสังคมอ่านออกเขียนได้ การกระจายข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นเรื่องง่าย ทำให้สังคมสื่อสารสะดวกจัดระบบระเบียบได้ดีขึ้น นอกจากนั้น สังคมที่มีผู้จบการศึกษาขั้นสูงจำนวนมากยังดึงดูดให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในสังคมอีกด้วย การมองข้ามผลกระทบด้านดีทำให้เกิดการบริโภคสิ่งดีเช่นการศึกษา น้อยกว่าที่ควร

รัฐมักตอบสนองต่อผลกระทบเหล่านี้โดยการออกกฎหมายห้าม (Outlaw) บังคับ (Mandate) เรียกเก็บภาษี (Tax) หรือสงเคราะห์ (Subsidize) เพื่อทำให้ราคาทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับราคาทางสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ก็ยังมีข้อบกพร่องเพราะเราไม่สามารถวัดได้ว่าแท้จริงแล้วสังคมมีแรงซื้อและแรงขายเท่าใด และราคาใดเป็นราคาที่ทุกคนจะยินยอมจ่ายมากที่สุด ถึงแม้จะสามารถวัดได้ว่าสังคมต้องการการศึกษาเท่าใด หรือรับมลภาวะได้เพียงใดแล้ว เราก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเงินสงเคราะห์ที่ให้เพิ่มหรือภาษีที่เก็บเพิ่มจะบรรลุเป้าหมายตามต้องการ ถึงแม้จะสามารถวัดได้ในปัจจุบัน เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน และค่านิยมเปลี่ยนไป นโยบายที่วางไว้ก็จะด้อยประสิทธิภาพลง

อีกหนึ่งทางออกที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันคือการพึ่งกลไกตลาดเพื่อกำหนดราคาทางสังคม กล่าวคือ สิทธิที่จะสร้างและกำจัดมลพิษถูกสร้างขึ้นและจัดแจงให้องค์กรต่างๆ สิทธินี้สามารถซื้อ-ขายได้ทำให้ดุลยภาพของตลาดตรงกับดุลยภาพของสังคม ตัวอย่างสำคัญในปัจจุบันคือการเก็บ*คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) *ทางออกนี้มีช่องโหว่คือต้องหาวิธีการจัดแจงสิทธิให้องค์กรต่างๆอย่างเท่าเทียม

3. สินค้าสาธารณะ (Public Goods)
สินค้าสาธารณะคือสินค้าหรือบริการที่ทุกคนในสังคมได้ใช้ร่วมกัน เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดใช้สินค้าหรือบริการนั้นแล้วก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่ได้ใช้สินค้าหรือบริการนั้น (Non-rivalrous & Non-excludable) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีผู้ใช้เพียงคนเดียวหรือ 1 พันคนราคาในการผลิตก็เท่ากัน ผู้บริโภคไม่สามารถกีดกันผู้บริโภคคนอื่นได้ เพราะการบริโภคของผู้บริโภคหนึ่งไม่ได้ลดปริมาณที่ผู้บริโภคจะบริโภคได้ ตัวอย่างเช่น สัญญาณดาวเทียม การป้องกันประเทศ และประภาคาร

ตัวอย่างของประภาคารสามารถอธิบายปัญหาทางกลไกตลาดที่อาจขึ้นได้ การสร้างประภาคารเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในท้องถิ่น หากประภาคารเปิดไฟให้คนใดคนหนึ่ง ทุกคนจะได้แสงสว่าง แปลว่าหากมีเพียงคนเดียวที่สร้างประภาคาร ทุกคนจะได้ผลประโยชน์แม้ไม่ร่วมจ่ายค่าก่อสร้าง หลักนี้ของสินค้าสาธารณะเป็นปัญหา เพราะคนขาดแรงจูงใจที่จะเป็นผู้จ่ายราคาค่าสร้าง ส่งผลให้สินค้าสาธารณะเกิดขึ้นได้ยาก หรือหากเกิดขึ้นก็มักจะด้อยคุญภาพกว่าสินค้าทั่วไป

4. โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the Commons)
สาธารณะสมบัติ (Common Goods) คือ สินค้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แต่การบริโภคของผู้บริโภคหนึ่งส่งผลต่อความสามารถในการบริโภคของผู้บริโภคอื่นๆ (Rivalous but Non-excludable) ตัวอย่างเช่น การตกปลาในน่านน้ำรวม และที่ดินการเลี้ยงปศุสัตว์สาธารณะ

ในตัวอย่างการตกปลาในน่านน้ำรวม ยิ่งตกปลามาก ทรัพยากรท้องทะเลในบริเวณยิ่งเสื่อมโทรม และหมดไปในทีสุด อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีแรงจูงใจที่จะตกปลาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพราะมีแนวคิดว่าหากตนไม่ตกก็จะมีผู้อื่นมาตกอยู่ดี จึงควรเพิ่มรายได้ของตนให้มากที่สุดก่อนที่ทรัพยากรจะหมดไป วิธีการแก้ไขมักเปิดตลาดซื้อขายสิทธิคล้ายกับเรื่องผลกระทบภายนอก (Externalities)

5. ผู้บริโภคมีข้อมูลครบถ้วน (Perfect Information)
การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง พวกเขาต้องข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ครบถ้วนอย่างแท้จริงไม่จริง รัฐจึงมักเข้าแทรกแทรงเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยการตั้งมาตรฐานสินค้าและบริการขึ้น และบังคับให้ผู้ผลิตอธิบายการทำงานและส่วนประกอบของสินค้า

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งจะเกิดความอสมมาตรของข้อมูลขึ้น (Information Asymetry) คือฝ่ายหนึ่งมีข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือการซื้อ-ขายสินค้ามากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ตัวอย่างของความอสมมาตรทางข้อมูลมี 2 ตัวอย่างหลักคือ:

5.1 จริยวิบัติ (Moral Hazard)
จริยวิบัติเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้หนึ่งแต่กลับเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุนั้นขึ้น เช่นถ้าเรามีประกันสุขภาพที่คุ้มครองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือเป็นโรคอะไรก็ตาม เราจะระมัดระวังสุขภาพตนเองน้อยลง มีโอกาสป่วยมากขึ้น ตัวอย่างอื่นเช่นการรัดเข็มขัดนิรภัยบนรถ อาจทำให้คนคิดว่าตนเองปลอดภัยและควบคุมรถได้ดีขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

5.2 การเลือกไม่พึงประสงค์ (Adverse Selection)
ในบางกรณี กลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการหนึ่งมากที่สุด กลับเป็นผู้บริโภคอันไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ผลิตมากที่สุด เช่นผู้ที่สนใจประกันชีวิตมากที่สุดคือผู้ป่วยและผู้สูงวัย วัยรุ่นหนุ่มสาวมักซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ดีที่สุดกลับไม่สนใจเพราะพวกเข้าป่วยยากกว่า

6. ผู้บริโภคมีวิจารณญาณชั้นเลิศ (Perfect Rationality)
สมมุติฐานนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายประการ คนทุกคนไม่ได้มีวิจารณญานที่ดีเสมอไป หลายศึกษาวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าคนไม่ามารถที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น หากให้คนเลือกว่าจะรับเงิน 5000 บาทตอนนี้เลย หรือรอรับ 10000 บาทในอีกหนึ่งปีข้างหน้า คนจำนวนมากจะเลือกรับเงิน 5000 บาทเลย ถึงแม้ว่าจะถูกหักเงินไปถึงครึ่งหนึ่งเลยก็ตาม คนมักด้อยความสามารถที่จะเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ของคุณค่าและกาลเวลา เป็นเหตุให้คนจำนวนมากยังสูบบุหรี่อยู่ คนกลุ่มนี้มักกลับมานึกเสียดายในตอนหลัง

ความบกพร่องทางวิจารณญาณของคนนี้สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการแทรกแทรงได้ เช่นรัฐบาลออกนโยบายหักรายได้ของทุกคนเพื่อออมไว้เป็นรายจ่ายยามชรา เพราะคนไม่สามารถออมเองได้

ในการโต้วาที เราควรถามตัวเองว่าการแทรกแทรงต่างๆนี้ช่วยแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดได้หรือไม่? คุ้มค่ากับการก้าวก่ายสิทธิของผู้ผลิตและผู้บริโภคหรือไม่? และนโยบายเหล่านี้ควรถูกจำกัดหรือยกเว้นในกรณีใดบ้าง? คำถามสำคัญต่อมาคือ

การแทรกแทรงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไปหรือไม่?

ถึงแม้ว่ากลไกของตลาดจะตั้งอยู่บนสมมติฐานหลายประการที่อาจล้มเหลวได้ทุกเมื่อ ในบางกรณี กลไกของตลาดก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องถูกแทรกแทรง เช่นในกรณีของตลาดหางาน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความอสมมาตรของข้อมูล เป็นไปได้ยากมากที่ผู้ว่าจ้างจะวัดความสามารถของผู้สมัครแต่ละคนได้อย่างเที่ยงตรง โดยเฉพาะปัจจัยนามธรรมเช่น ความทุ่มเทและ ความพยายาม อย่างไรก็ตาม กลไกของตลาดก็ยังมีทางออกคือวุฒิการศึกษาโดยเฉพาะวุฒิการศึกษาขั้นสูง บ่อยครั้งที่เนื้อหาความรู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่เป็นประโยชน์กับบัณฑิตเมื่อเข้าทำงาน (ยกเว้นสายอาชีพการแพทย์ และกฎหมาย) แต่ปริญญาที่บัณฑิตได้รับกับเป็นตัวบ่งชี้สำคัญสำหรับผู้ว่าจ้างถึงความรับผิดชอบ ความเฉลียวฉลาด และความทุ่มเทตั้งใจของผู้สมัคร

ถึงแม้ว่าในที่สุดกลไกตลาดจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง การแทรกแทรงก็ยังอาจไม่ใช่ทางออก ในหลายกรณี ประสิทธิภาพของรัฐบาลถูกบั่นทอนด้วยวิ่งเต้น (Lobbying) ของบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียทำให้นโยบายที่ออกมาแทรกแทรงแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด เช่นกรณีนโยบายลดปริมาณคาร์บอนในหลายประเทศไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลยกเว้นข้อบังคับให้แก่บางภาคส่วนจากการวิ่งเต้น

นอกจากกรณีที่ตลาดล้มเหลวแต่สามารถแก้ไขตัวเองได้ และกรณีที่ตลาดล้มเหลวและการแทรกแซงไม่แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ฝ่ายที่ค้านการแทรกแซงยังอาจค้านอีกได้วทา แท้จริงแล้วตลาดไม่ได้ล้มเหลว เช่นนโยบายการอุ้มบริษัทที่กำลังล้มละลาย การล้มละลายของบริษัทอาจไม่ใช่ความล้มเหลวของตลาดแต่เป็นการทำงานของกลไกตลาดที่กำจัดสิ่งที่ด้อยประสิทธิภาพ ในกรณีอย่างนี้ การแทรกแซงอาจส่งให้เกิดผลเสียมากขึ้นด้วย (จากจริยวิบัติ)

บทสรุป

การโต้วาทีเรื่องเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดเกี่ยวกับความล้มเหลวของตลาด (ซึ่งอาจมีอยู่จริงหรือไม่ก็ได้) และวิธีการตอบสนองต่อความล้มเหลวนั้น อย่างไรก็ตาม หลักทางเศรษฐศาสตร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับแทบทุกเรื่อง เพราะในทางใดทางหนึ่ง การโต้วาทีเกี่ยวกับการวิเคราะห์และคาดการณ์ว่าคนจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าและนโยบายต่างๆอย่างไร นั่นคือหัวใจของวิชาเศรษฐาสตร์