จริยธรรมเป็นเครื่องตัดสินว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เป็นหลักที่นิยามคำว่า “ดี” และ “ไม่ดี”  หลักจริยธรรมไม่มีความตายตัว แตกต่างตามสังคม บุคคล และสถานการณ์

ทฤษฎีจริยศาสตร์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ทฤษฎีหลักคือ

  1. ทฤษฎีหน้าที่นิยม (Deontology): ทฤษฎีนี้เน้นหลักความถูกต้องของการกระทำที่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลลัพท์ที่ตามมา เชื่อว่าการกระทำที่ถูกต้องเริ่มจากเจตนาที่ดี ให้ความสำคัญกับการพูดความจริงและการทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ
  2. ทฤษฎีประโยชน์นิยม (Utilitarianism): ทฤษฎีนี้เน้นผลลัพท์ที่ดีที่สุด โดยไม่สนใจว่าการกระทำให้ได้ผลลัพท์ดังกล่าวจะถูกต้องตามหลักหรือไม่ เชื่อว่าผลประโยชน์ที่จับต้องได้สำคัญกว่าเจตนาการกระทำ

ตัวอย่างคลาสสิกของความขัดแย้งระหว่างแนวคิคหน้าที่นิยมและประโยชน์นิยมคือปัญหารถราง (Trolley Dilemma): รถรางขบวนหนึ่งสูญเสียการควบคุมและมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่มีคนถูกมัดติดรางอยู่5คน คุณเป็นผู้เดียวที่สามารถสับรางรถไฟเพื่อให้รถไฟแล่นไปบนรางที่มีคนถูกมัดอยู่เพียง1คนแทนได้ คุณควรที่จะสับรางรถไฟหรือไม่?

ผู้สนับสนุนประโยชน์นิยมจะสับรางเพราะผลลัพท์การลดยอดผู้เสียชีวิตจาก5ให้เป็น1สำคัญที่สุด ในขณะที่ผู้สนับสนุนหน้าที่นิยมจะไม่สับรางเพราะหากสับราง ผู้สับรางจะเปลี่ยนจากผู้สังเกตการณ์เป็นผู้ฆ่าคนหนึ่งคนนั้นทันที การที่ตนไม่ยุ่งเกี่ยวเป็นหน้าที่ที่สำคัญกว่าผลลัพท์ว่าจะมียอดผู้เสียชีวิตกี่ราย