Euroscepticism คือ แนวคิดของชาวยุโรปซึ่งต่อต้านสหภาพยุโรปหรือการรวมกลุ่มชาติยุโรป

แนวคิดนี้แบ่งเป็นสองแบบ คือ แนวคิดที่ต่อต้านหลักการของสหภาพยุโรปและต้องการให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรป (Hard euroscepticism) กับแนวคิดที่ไม่ได้ต้องการให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรป เพียงแต่คัดค้านนโยบายของสหภาพยุโรปบางอย่างเท่านั้น (Soft euroscepticism)

สาเหตุของแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ส่วนใหญ่มักมีต้นตอมาจากนโยบายของสหภาพยุโรปซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องนำไปใช้แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม เนื่องจากสหภาพยุโรปบังคับให้ประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกยอมรับกฏหมายและข้อตกลงทุกอย่าง (ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า Acquis communautaire) เท่านั้น จึงจะได้รับสมาชิกภาพ

สาเหตุของแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป สามารถแบ่งได้เป็นหัวข้อหลักๆ ดังนี้

ปัญหาการย้ายถิ่น และวิกฤตผู้ย้ายถิ่นในยุโรป (European Migrant Crisis)

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้แนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ผู้ย้ายถิ่นจากประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและแอฟริกาซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ผู้ย้ายถื่นเหล่านี้มีทั้งกลุ่มที่กำลังลี้ภัยจากสงคราม โดยเฉพาะสงครามในซีเรีย และผู้ที่อพยพเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ประชาชนในประเทศยุโรปหลายคนไม่พอใจในยอดผู้ย้ายถิ่นที่พุ่งสูงขึ้น ประชาชนบางคนในประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ไม่พอใจเพราะไม่ต้องการผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย หรือกลัวชาวมุสลิม ส่วนประชาชนในประเทศที่เป็นทางเข้าหลักของผู้ย้ายถิ่น เช่น กรีซ ไม่พอใจเพราะตนต้องเสียทรัพยากรมากกว่าประเทศอื่นมากเนื่องจากกฏดับลิน (Dublin regulation) ของสหภาพยุโรป ซึ่งให้ประเทศสหภาพยุโรปประเทศแรกที่ผู้ย้ายถิ่นเดินทางเข้าไปรับผิดชอบผู้ย้ายถิ่นนั้น

ผลกระทบ ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการย้ายถิ่นเป็นปัญหาใหญ่ในสหภาพยุโรป พรรคประชานิยมฝ่ายขวา ซึ่งล้วนต่อต้านการย้ายถิ่นและสหภาพยุโรป เช่นพรรคอิสรภาพสหราชอาณาจักร (UK Independence Party; UKIP) พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front; FN) ในฝรั่งเศส และพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany; AfD) ได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอที่จะเรืองอำนาจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการย้ายถิ่นก็ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนสหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)